รากแก้วความสุข Grass Root of Authentic Happiness
[Date : 4 June 2022 ]
 
Talent iceberg of Leadership
[Date : 21 June 2022 ]
 
Unlock Leadership Potential(1)
[Date : 10 May 2022 ]
 
Team Innovation ที่ฟาร์มโชคชัย โดย กฤษณ์ รุยาพร
 

Team Innovation ที่ฟาร์มโชคชัย
โดย กฤษณ์ รุยาพร


 



         เมื่อนึกถึงคำว่า  นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ (Innovation) เรามักจะนึกถึงผู้นำหรือองค์กรชั้นนำในต่างประเทศที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับโลกใบนี้ แต่เราลืมนึกไปว่าไอเดียดีๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้จากผู้นำสายพันธุ์ใหม่ต้นแบบที่เป็นนักสร้างสรรค์ในเมืองไทยเรานี่เอง
ผู้เขียนมีโอกาสนำทีมผู้บริหารชั้นนำหลายองค์กรไปเปิดมิติในการสร้างสรรค์กระบวนการใช้ศิลปะเพื่อเข้าถึงพลังสร้างสรรค์ของจิตใต้สำนึกของต่อมสุขใจในตัวผู้นำ (The Art of discover Authentic Leader) โดยใช้รูปแบบของกิจกรรมที่ประสานความเป็นหนึ่งเดียวของธรรมชาติที่ Boutique camp  ของฟาร์มโชคชัยเป็นตัวสร้างบรรยากาศการปลดปล่อยพลังของศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายใน
นอกจากนั้นผู้บริหารยังมีโอกาสในการขยายต่อมของการเรียนรู้ไอเดียใหม่ๆ จากทีมงานของคุณโชค บูลกุลที่ฟาร์มโชคชัยซึ่งเป็นต้นแบบของบริษัทคนไทยในการสร้าง Blue Ocean Innovation ที่ผสมผสาน Agricultural Innovation หรือนวัตกรรมทางการเกษตร กับ Knowledge edutainment provider หรือความสามารถในการนำเสนอองค์ความรู้อย่างสร้างสรรค์ ทำให้เกิดโอกาสในการสร้างธุรกิจทางการท่องเที่ยวในรูปที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน
แนวความคิดเชิงสร้างสรรค์แบบองค์รวมนี้คุณโชค บุลกูลและผู้เขียนเห็นคุณค่าในการสร้างกระบวนการแบ่งปันการเรียนรู้ และต่อยอดเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ร่วมกันระหว่างทีมงานที่ฟาร์มโชคชัยทีมคณาจารย์ของผู้เขียนที่ Asia Pacific Innovation Center กับทีมผู้บริหารของเข้าร่วมทำกิจกรรมสัมนาในการค้นหาพลังสร้างสรรค์และต่อยอดความคิดและไอเดียใหม่ๆ ในการสร้างกระบวนการเพิ่มคุณค่าใหม่ๆ ร่วมกันโดยมีบันได 3 ขั้นก็คือ
1.  รู้จักต่อมพลังสร้างสรรค์ (Discover Innovative Sweetspot)
ความคิดและไอเดียมีอยู่ในตัวเราทุกคน ที่สำคัญก็คือการรู้จักต่อมพลังที่อยู่ในสมองของเราที่เป็นต่อมสุขใจในการนำเอากระบวนการคิดและรู้จักใช้พลังของความคิดสร้างสรรค์ในจังหวะและเวลาที่ถูกต้องเพื่อขับพลังที่ซ่อนเร้นในตัวเราให้ออกมา
ในกระบวนการสร้างสรรค์โดยคิดอย่างเป็นระบบนั้น มีกระบวนการที่เริ่มจากการมองปัญหาอย่างคมชัด คุณโชคกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า "ภายใต้ความกดดันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตจะเป็นตัวเร่งหรือเป็น Catalyst  อย่างยอดเยี่ยมในการกระตุ้นให้เรามองปัญหาอย่างคมชัดและลึกเพื่อที่สามารถหาคำตอบอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นรากแก้วของต้นเหตุและสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน"
หลายองค์กรชั้นนำได้นำเอาแบบสอบถาม Multi-Dimension Intelligence Profile ไปทดสอบเพื่อค้นหาพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์แก่ทีมผู้นำในองค์กร ทีมงานในองค์กรจำเป็นต้องสามารถผสมผสานความถนัดที่หลายหลายเพื่อสร้างแนวนวัตกรรมใหม่ๆ บางท่านจะถนัดในการมองการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ในขณะที่หลายท่านถนัดในการมองการคิดแบบนอกกรอบและสร้างสรรค์ไอเดียที่หลากหลาย ถ้าทีมสามารถนำความต่างมาประสานกันได้อย่างลงตัวก็จะได้คำตอบที่สร้างสรรค์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างคมชัด
2.  ชื่มชมและปลดปล่อย (Appreciate and and Unlock)
เมื่อเรารู้จักพลังของต่อมสุขใจของทีมผู้บริหาร การสร้างกระบวนการชื่นชมและปลดปล่อยพลังที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในเป็นปัจจัยที่สำคัญ คุณโชคกล่าวถึง concept ที่ “คิดแบบเด็กแต่ทำแบบผู้ใหญ่” ถ้าเราสามารถชื่นชมที่จะนำเอาพลังของไอเดียของความเป็นเด็กที่อยู่ในตัวออกมาด้วยกระบวนการชื่นชมและปลดปล่อย เราก็จะมีพลังของไอเดียในตัวเราอย่างมากมาย ผู้เขียนได้ใช้ศิลปะการเขียนภาพจากจิตใต้สำนึกเพื่อให้คุณโชคอธิบายถึงพลังของความคิดสร้างสรรค์ในตัวเองออกมาดั่งในรูปที่สะท้อนความเป็นตัวตนของคุณโชคที่สามารถสร้างไอเดียใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง 
ผู้บริหารหลายท่านแม้จะรู้ว่ามีต่อมพลังที่ซ่อนอยู่แต่ถ้าไม่มีกระบวนการชื่นชมและสร้างทักษะที่สามารถสะกิดและนำมาใช้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ พลังของความคิดสร้างสรรค์ก็ยังคงหลบซ่อนอยู่ภายใน ผู้บริหารหลายท่านกล่าวไว้อย่างน่าสนใจหลังจากไปทำกิจกรรมที่ฟาร์มโชคชัยว่า “บรรยากาศและสถานที่ในการทำกิจกรรมเพื่อดึงเอาศักยภาพของความสามารถที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในออกมาด้วยแบบสอบถาม การวาดภาพและรูปแบบของวิธีการในการสร้างกิจกรรมเพื่อชื่นชมและปลดปล่อยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์นี้ทำให้ตัวเขาและทีมงานมีไฟในการปลุกพลังเพื่อสร้าง Innovation@work”
3.  ต่อยอดร่วมกัน (Improvise Team Innovation)
เมื่อสามารถปลุกไฟแห่งความคิดสร้างสรรค์ในตัวผู้นำและทีมงาน การเรียนรู้กระบวนการเพื่อฝึกการต่อยอดด้วยการปลูกฟังทัศนคติของการใฝ่รู้แบ่งปันก็เป็นสิ่งที่จะสามารถกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกใหม่ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
คุณโชคและทีมงานที่ฟาร์มโชคชัยเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำเอาไอเดียใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในฟาร์มเพื่อออกมาแลกเปลี่ยนและต่อยอดกับผู้บริหารที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยต่อยอดเพื่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในฟาร์ม ในขณะเดียวกันผู้บริหารที่มาร่วมแลกเปลี่ยนไอเดียยังได้เกิดพลังความเชื่อมั่น พลังศรัทธาที่ทำให้ทีมงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์กลับไปใช้ในองค์กรได้อย่างเป็นระบบ

 
 

 
โดย อาจารย์กฤษณ์ รุยาพร  E-mail : kris@e-apic.com, Mobile 081-617-7785 
บทความได้รับการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์


Home    l    About Us    l    Education Program    l    Consulting    l    Clients    l    Online Test
Books & Multi    l    Apic Leadership Review    l    Contact Us